ข้ามไปเนื้อหา

พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเทพคุณาธาร

(ผล เล็กสมบูรณ์ , ชินปุตฺโต)
ภาพถ่าย พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต)
คำนำหน้าชื่อท่านเจ้าคุณ
ชื่ออื่นหลวงพ่อวัดพระพิเรนทร์
ส่วนบุคคล
เกิด28 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 (67 ปี)
มรณภาพ7 ตุลาคม พ.ศ. 2512
นิกายมหานิกาย
การศึกษา- นักธรรมชั้นโท
- เปรียญธรรม 4 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพระพิเรนทร์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 
บรรพชาพ.ศ. 2462
อุปสมบท30 เมษายน พ.ศ. 2465
พรรษา47 พรรษา
ตำแหน่ง- อดีตเจ้าคณะภาค 8
- อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์

พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) หรือนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อผล” หรือ "ท่านเจ้าคุณผล วัดพระพิเรนทร์" เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพมหานคร อดีตเจ้าคณะภาค 8 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

ชาติภูมิ[แก้]

ชื่อ ปู้ขุ่น หรือ ปูขุ่น นามสกุล แซ่เล็ก ภายหลังเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น ผล เล็กสมบูรณ์ ชาตะ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 (วันพุธ แรม 7 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล) ณ บ้านโรงหีบ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี)[1]

ถือกำเนิดในครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋ว นามสกุลแซ่เล็ก ภายหลังได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น เล็กสมบูรณ์

เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 3 คน ของ นายกิมหลี แซ่เล็ก กับนางเฮียะ แซ่เตียว นอกจากนี้ยังมีพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดา จำนวน 11 คน[2]

บรรพชา[แก้]

พระเทพคุณาธาร สมัยที่ยังเป็น สามเณร ปู่ขุ่น แซ่เล็ก

วัยเยาว์ได้ช่วยบิดามารดาค้าขายทางเรือ ครั้นถึง พ.ศ. 2462 อายุ 17 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรในงานฌาปนกิจศพน้าสาวที่วัดราษฎรบำรุง อำเภอศรีประจันต์ (ต่อมาแยกเป็นอำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีพระอธิการอ้วน ธมฺมกถิโก เจ้าอาวาสวัดสามทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

ก่อนบรรพชานั้นท่านยังไม่รู้หนังสือเลย ครั้นเป็นสามเณรแล้วได้เห็นการเรียนหนังสือของพระภิกษุสามเณรและเด็กที่วัดราษฏรบำรุง จึงมีความปรารถนาอยากจะเรียนบ้าง แต่ยังไม่สะดวกนัก พระใบฎีกาอินทร์ (เจ้าอาวาสวัดราษฏรบำรุง) จึงแนะนำให้เรียนหนังสือขอมไปก่อน และขออนุญาตโยมให้บวชต่อไปอีก โยมก็อนุญาต แต่โบราณถือว่าการบวชหน้าไฟร้อน จึงให้ลาสิกขา แล้วบรรพชาใหม่ติดต่อกันไป โดยมีพระใบฎีกาอินทร์ เจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อบรรพชาใหม่แล้วได้เริ่มเรียนหนังสือขอม และหาโอกาสไปฟังการเรียนหนังสือไทยบ้าง พออ่านหนังสือขอมและเขียนหนังสือไทยได้บ้างแล้วจึงเริ่มเรียนสนธิ โดยมีพระอาจารย์ทอง ศรีคำ เป็นผู้สอน การเรียนคราวนี้มีนักเรียนเพียงคนเดียว ทำให้รู้สึกเนือยๆ แต่ท่านก็เรียนจบในพรรษาแรกนั้นเอง

เมื่อมีความรู้ขึ้นบ้างแล้ว ท่านจึงมีความปรารถนาจะเรียนให้มากยิ่งขึ้น ประจวบกับเวลานั้นพระมหาพุ่ม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดินทางไปวัดราษฎรบำรุงพร้อมกับพระมหาสุนทร ศรีโสภาค (ลูกศิษย์พระใบฎีกาอินทร์) ท่านจึงขอให้โยมยายช่วยฝากกับพระมหาพุ่ม เพื่อนำท่านมาอยู่กรุงเทพมหานคร แต่พระมหาพุ่มไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะ จึงไม่สามารถรับได้ โยมยายจึงให้น้าชายชื่อนายล้งนำมาฝากไว้กับพระอธิการปอ ธมฺมกถิโก เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคนละแวกบ้านเดียวกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2463

เมื่อมาอยู่วัดพระพิเรนทร์ ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร และสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปลายปี พ.ศ.2463 นั้นเอง ตัวท่านเคยเล่าว่าเวลานั้นเกิดความทะเยอทะยานในการศึกษาเล่าเรียนมาก อยากเรียนไปทุกอย่าง และรู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านพ้นไปมากแล้ว จึงได้เข้าเรียนภาษาบาลีที่วัดจักรวรรดิราชาวาสนั้นต่ออีก[1]

อุปสมบท[แก้]

อายุครบ 20 ปี จึงกลับไปอุปสมบทที่บ้านเกิด ณ พัทธสีมาวัดเกาะ ตำบลบางงาม (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลวังหว้า) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2465 (วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ) โดยมี

พระครูปลื้ม วัดพร้าว เป็นพระอุปัชฌาย์

พระสมุห์พริ้ง วชิรสุวณฺโณ (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูธรรมสารรักษา) วัดวรจันทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอธิการปอ ธมฺมกถิโก วัดพระพิเรนทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลีต่อ กับต้องช่วยพระอธิการปอ ในกิจการงานต่าง ๆ ของวัดเรื่อยมา

ครั้นถึง พ.ศ. 2471 พระอธิการปอเริ่มอาพาธ ท่านต้องคอยอยู่ปฏิบัติตลอดเวลา กระทั่งพระอธิการปอมรณภาพในปี พ.ศ. 2472 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรักษาวัดพระพิเรนทร์ เมื่อจัดการปลงศพพระอธิการปอเสร็จในปี พ.ศ. 2474 แล้ว แม้จะต้องรับหน้าที่สำคัญในวัด มีภารกิจมาก แต่ท่านก็ยังไม่ละความพยายามในการศึกษาเล่าเรียน และได้ขวนขวายในการเรียนต่อมาอีก 2 ปี จึงต้องหยุดพัก เพราะมีภารกิจการงานมากขึ้น และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2476[1]

วิทยฐานะ[แก้]

ผลงาน[แก้]

งานการศึกษา[แก้]

  • ราว พ.ศ. 2480 เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง
  • พ.ศ. 2494 เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดพระพิเรนทร์
  • ราว พ.ศ. 2495 เป็นกรรมการศึกษาเทศบาล
  • พ.ศ. 2495 เป็นรักษาการกรรมการสงฆ์ องค์การศึกษา อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายและอำเภอปทุมวัน
  • พ.ศ. 2500 เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
  • เป็นกรรมการนำข้อสอบบาลีสนามหลวงไปเปิดสอบ ณ สนามสอบส่วนภูมิภาค ตลอดทุกปี

งานปกครอง[แก้]

  • พ.ศ. 2473 เป็นกรรมการรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์
  • พ.ศ. 2476 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์
  • พ.ศ. 2487 เป็นกรรมการสงฆ์ องค์การสาธารณูปการ อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายและอำเภอปทุมวัน
  • พ.ศ. 2490 เป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2500 เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดชำนิหัตถการ
  • พ.ศ. 2495 เป็นกรรมการสงฆ์องค์การปกครอง อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายและอำเภอปทุมวัน และเป็นรักษาการในตำแหน่งกรรมการสงฆ์ องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ องค์การสาธารณูปการ อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายและอำเภอปทุมวัน
  • พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2507 เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย
  • พ.ศ. 2507 เป็นรองเจ้าคณะภาค 8
  • พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะภาค 8

สมณศักดิ์[แก้]

อาพาธ และมรณภาพ[แก้]

ศพท่านเจ้าคุณพระเทพคุณาธาร ตั้งบำเพ็ญกุศลที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระพิเรนทร์

อาพาธ[แก้]

พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตโต) อาพาธด้วยภาวะแพ้อากาศและหอบเหนื่อย อยู่ในที่อากาศไม่ดีและมีฝุ่นละอองไม่ได้ ทางแพทย์จึงแนะนำให้ท่านไปพักรักษาตัวอยู่ที่มีสภาพอากาศดี เพื่อจะได้พักผ่อนและได้รับอากาศที่ดี เช่น ต่างจังหวัด ท่านจึงเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดราษฎรบำรุง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2512

ระหว่างพักรักษาตัวอยู่นั้นมีอาการดีขึ้น จึงได้รับอาราธนาไปอบรมพระภิกษุสงฆ์สามเณรในเขตคณะสงฆ์อำเภอดอนเจดีย์ จากนั้นร่างกายจึงทรุดลง วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2512 ทางญาติและคณะศิษย์จึงนำท่านไปตรวจที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี และในวันเดียวกันนั้นจึงนำท่านกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร

มรณภาพ[แก้]

เวลา 6.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2512 อันเป็นเวลาที่ออกซิเจนหมดท่อ จะต้องเปลี่ยนท่อใหม่ บุรุษพยาบาลที่ทางโรงพยาบาลจัดเข้าเวรอยู่ได้จัดการเปลี่ยนท่อออกซิเจนใหม่ ณ เวลานี้เองความฉุกละหุกและเหตุการณ์อันน่าตระหนกก็เกิดขึ้น พระที่ไปเฝ้าอยู่เห็นอาการผิดปกติไปมาก จึงให้คนรีบไปตามนายแพทย์เวรมาช่วย เมื่อนายแพทย์เวรและแพทย์อื่นในโรงพยาบาลมา ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ท่านได้ถึงมรณภาพเวลาประมาณ 06.20 น. สิริอายุ 67 ปี อุปสมบทได้ 47 พรรษา

การจัดการศพ[แก้]

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานน้ำหลวงสรงศพท่านเจ้าคุณพระเทพคุณาธาร

วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2514 พิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานวัดพระพิเรนทร์ โดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานสหภูมิสงฆ์สุพรรณบุรี - กรุงเทพ และองค์อุปถัมภ์สมาคมสุพรรณพระนคร ได้เป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลทั้งหมดในวันพระราชทานเพลิงศพ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 คณะสงฆ์วัดพระพิเรนทร์. ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต). พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2514.
  2. พระศีลขันธโศภิต. (2497). นานาภาษิต คณะเจ้าภาพจัดพิมพ์มอบเป็นบรรณาการที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นายกิมหลี แซ่เล็ก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ , เล่ม 56 ง, 4 มีนาคม 2482, หน้า 3537
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 68, ตอนที่ 74, 11 ธันวาคม 2494, หน้า 5622
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 75, ตอนที่ 109, 23 ธันวาคม 2501, หน้า 3135
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอนที่ 3, 4 มกราคม 2506, ฉบับพิเศษ หน้า 3
ก่อนหน้า พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ถัดไป
พระอธิการปอ ธมฺมกถิโก
เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์
(รักษาการ พ.ศ. 2473 - พ.ศ. 2476)
(เจ้าอาวาส พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2512)
พระครูวินัยธรใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ
(รักษาการ)